เคล็ดลับทำงานผนังปูนให้แข็งแรง ไม่แตกร้าว กับ 6 อย่าทำ 10 ต้องทำ

เคล็ดลับทำงานผนังปูนให้แข็งแรง ไม่แตกร้าว

การทำงานผนังปูนทั้งก่อ และฉาบนั้น สิ่งสำคัญที่ทุกคนมองหาก็คือ ความแข็งแรง ทนทาน ไม่แตกร้าว อายุการใช้งานยาวนาน
ตราเสือจึงขอนำเทคนิคดี ๆ จำไม่ยาก ของอาจารย์สำเริง ฤทธิ์พริ้ง วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านงานก่อสร้างมาฝาก กับเทคนิค "6 อย่าทำ 10 ต้องทำ" กับงานปูน

เสริมความมั่นใจด้วย

10 ต้องทำ



ต้องนำอิฐแช่น้ำก่อนก่อ 1 ชั่วโมง

เราจะเห็นได้ค่อนข้างบ่อยว่าพี่ช่าง มักจะมีการนำอิฐไปแช่น้ำในถัง หรือใช้สายยางฉีดน้ำเพื่อให้อิฐเปียก วิธีการนี้จะช่วยให้อิฐอิ่มน้ำ อิฐจะได้ไม่มีการแยงน้ำจากเนื้อปูนก่อ โดยวิธีการทำได้ทั้งการรดน้ำให้ชุ่ม หรือแช่น้ำเลยก็ได้ แต่ก่อนจะนำมาใช้งานก่อ ต้องผึ่งลมให้ผิวด้านนอกหมาดตัวดีเสียก่อน แล้วจึงนำมาใช้งานต่อไป

(การแช่น้ำอิฐหรือรดน้ำก่อนนำมาก่อ เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการช่วยให้เนื้อปูนก่อมีน้ำเพียงพอต่อการทำปฏิกิริยาสร้างความแข็งแกร่ง เพราะอิฐจะไม่แย่งน้ำจากเนื้อปูนก่อ)

ต้องก่อสลับแนว

การก่อสลับแนว เพื่อการยึดประสานกันระหว่างชั้นอิฐ ให้ผนังออกมามีความแข็งแรง ทนทาน

(วิธีการก่ออิฐมีหลากหลายวิธีการ ทั่วไปนิยมใช้การก่อแบบ “ครึ่งแผ่นอิฐ” แต่ทุกวิธีการ จะเน้นการก่อสลับแนวเพื่อช่วยให้ผนังที่ออกมามีความแข็งแรงยิ่งขึ้น)

ต้องไม่ให้ชั้นปูนก่อหนาเกิน 1.5 เซนติเมตร

ในกรณีที่ใช้อิฐมอญ และอิฐบล็อค ชั้นปูนก่อไม่ควรหนาเกิน 1.5 เซนติเมตร เนื่องจากจะทำให้สิ้นเปลืองเนื้อปูน และยังทำให้เกิดการทรุดตัวมากเกินความจำเป็นเมื่อชั้นปูนก่อเริ่มแห้ง (เป็นการทรุดตามปกติ ไม่เป็นอันตราย) และยังจะทำให้ผนังปัญหาโน้มเอียงไม่ได้ดิ่งได้อีกด้วย
ยกเว้นอิฐมวลเบา ที่ตัวเนื้อปูนเป็นปูนกาวพิเศษที่เสริมแรงยึดเกาะ ที่การก่อจะบางเพียง 2-3 มิลลิเมตรเท่านั้น


(ชั้นปูนก่อ ไม่ควรหนาจนเกินไป เพราะจะเกิดการยุบตัวเมื่อปูนเริ่มแห้ง อีกทั้งยังทำให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น)

ต้องมีเสาเอ็นและคานทับหลัง

เสาเอ็นและคานทับหลัง ควรมีทุก ๆ ระยะความกว้าง 2.5 เมตร และความสูง 1.5 เมตร เพราะจะทำหน้าที่กระจายน้ำหนักของอิฐก่อผนัง และช่วยไม่ให้ผนังพังพับลงมาได้ ความกว้างของเสาเอ็นและคานทับหลังควรกว้างไม่น้อยไปกว่า 15 เซนติเมตร และหนาเท่ากับความหนาของอิฐ โดยควรมีการเสริมเหล็กโครงสร้างภายในระก่อนการหล่อ เพื่อความแข็งแรงด้วย
ต้องมีเสาเอ็นที่วงกบประตูและหน้าต่าง

ทุกช่องเจาะ ควรมีเสาเอ็นและคานทับหลังล้อมเป็นกรอบไว้ เพื่อช่วยเป็นโครงให้กับวงกบประตูหรือหน้าต่าง ซึ่งจะมีการขยับเขยื่อนจากการเปิดปิดตลอดเวลา ช่วยกระจายแรงกระทำต่อผนังอิฐ และไม่ควรลืมติดลวดตะแกรงกรงไก่ที่มุมวงกบด้วย เพื่อช่วยกระจายแรงให้กับชั้นปูนฉาบด้วย

(เสาเอ็นและคานทับหลัง เป็นอีกส่วนที่ช่วยเรื่องความแข็งแรงให้กับผนัง รวมถึง
ช่องเปิดทุกชนิด ควรมีเสาเอ็นและคานทับหลังเป็นกรอบไว้ เพื่อช่วยเรื่องความแข็งแรงด้วย)

ต้องมีเสาเอ็นที่มุมกำแพง

เช่นเดียวกับเสาเอ็นที่แทรกตัวระหว่างกำแพง เสาเอ็นจะทำหน้าที่เป็นโครงให้ผนังยึด เราไม่ควรก่ออิฐเป็นมุมโดยไม่มีเสา เนื่องจากแนวอิฐจะไม่มีโครงอะไรให้ยึด และส่งผลต่อความแข็งแรงในระยะยาวได้

ต้องเสียบเหล็กหนวดกุ้งทุกระยะ

ผนังอิฐที่แข็งแรง จะต้องมีตัวช่วยยึดชั้นก่ออิฐกับเสา ซึ่งเราใช้วิธีการเสียบเหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร เสียบไปในเสาคอนกรีต ให้มีความยาวส่วนที่ยื่นออกมาไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร เพื่อยึดให้ผนังอิฐมีความแข็งแรง ไม่หลุดออกจากแนวเสา หรือล้มลงมา


ต้องรดน้ำอิฐก่อนการฉาบ

หลังจากก่อเสร็จแล้ว เราควรทิ้งช่วงให้ชั้นปูนก่อเซ็ทตัว ก่อนทำการฉาบต่อไป ซึ่งก่อนฉาบ 1 วัน ควรมีการรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ก่อน และรดน้ำซ้ำอีกครั้งในเช้าวันฉาบ เพื่อป้องกันอิฐแย่งน้ำจากเนื้อปูนฉาบ ซึ่งจะทำให้เกิดการแตกร้าวได้


(การรดน้ำอิฐนั้น สามารถทำได้โดยการสาดน้ำ หรือฉีดน้ำก็ได้)

ต้องใช้เครื่องผสมปูนฉาบ

แม้ว่าการใช้จอบแบบดั้งเดิมจะผสมปูนได้เช่นเดียวกัน แต่เนื้อปูนจะเข้ากันได้ดีกว่า หากเราใช้เครื่องมือผสม อย่างสว่านไฟฟ้าติดใบกวน หรือเครื่องผสม เพราะการตีเนื้อปูนด้วยเครื่องมือเหล่านี้ จะทำให้เนื้อปูนเข้ากันได้ดีกว่าการผสมด้วยมือ ช่วยให้เนื้อปูนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


(เครื่องผสมปูน ทำให้เนื้อปูนเข้ากันได้ดีกว่า)

ต้องรดน้ำต่อไปอีกเพื่อบ่มผนัง

น้ำเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความแข็งแกร่งของปูน ดังนั้น เพื่อให้เนื้อปูนมีน้ำเพียงพอต่อการทำปฏิกิริยานั้น ควรมีการรดน้ำผนังที่ฉาบเสร็จแล้วต่อไปอีกวันละอย่างน้อย 1 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 3-7 วันหลังฉาบเสร็จ น้ำที่นองในไซท์งานจากการรดน้ำอาจจะทำให้การทำงานในส่วนอื่นลำบากไปบ้าง แต่ไม่ควรละเลย เพราะการทำงานในขั้นตอนนี้จะส่งผลต่อการป้องกันการแตกร้าว และความแข็งแกร่งของผนัง


(การรดน้ำ ช่วยให้เนื้อปูนไม่เสียน้ำเร็วเกินไป จนเกิดการแตกร้าวลายงาได้ จึงเป็นอีกขั้นตอนที่ไม่ควรละเลย)


ไม่พลาดสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในงานปูน กับ "

6 ข้อ อย่าทำ!"



อย่าก่ออิฐภายในวันเดียว

งานก่ออิฐเป็นงานที่ส่งผลต่อความแข็งแรงของผนัง แม้ว่าอาจดูเป็นงานที่น่าจะทำให้เสร็จได้ภายในวันเดียว แต่ปูนที่นำมาก่อนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาในการเซ็ทตัวและพัฒนาความแข็งแรง รวมถึงน้ำที่ระเหยออกจากเนื้อปูนจะทำให้ปูนยุบตัวลงเล็กน้อย แม้จะเพียงไม่กี่มิลลิเมตร แต่ก็ส่งผลให้เกิดการแตกร้าวของผนังหลังฉาบได้เช่นกัน
ดังนั้นควรวางแผนให้มีการก่อผนังและมีระยะเวลาสำหรับหล่อเสาเอ็นและคานทับหลังเมื่อก่อได้ระยะความสูง หรือกระทั้งควรเว้นระยะชนท้องคาน เพื่อให้ปูนยุบตัว ก่อนมีการก่ออิฐชั้นสุดท้าย

(เมื่อก่อได้ระยะจะต้องมาการหล่อคานทับหลังและเสาเอ็นเพื่อถ่ายน้ำหนักของอิฐ เมื่อก่อจนจะถึงท้องคานด้านบน ควรเว้นช่องวางไว้ก่อนมาก่ออิฐหลังปูนยุบตัวแล้ว 3-4 วัน)

อย่าก่ออิฐชนท้องพื้นสำเร็จของชั้นบน

เพราะพื้นสำเร็จมักจะให้ตัวได้ การก่อผนังจนชนท้องพื้นสำเร็จ จึงอาจทำให้เมื่อพื้นสำเร็จให้ตัว ทำให้เกิดแรงกดลงบนสันของผนัง แรงกดนี้จะทำให้เกิดการแตกร้าวของผนังได้

(เมื่อเกิดการยุบตัวของพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป หรือเกิดการให้ตัว น้ำหนักของด้านบนจะกดลงบนผนังในแนวดิ่ง เกิดเป็นรอยร้าวในแนวดิ่งลักษณะนี้ได้)

อย่าก่ออิฐบนพื้นสำเร็จรูป หรือพื้นที่ไม่มีคานรับ

เพราะพื้นสำเร็จจะมีความสามารถในการให้ตัว และอาจไม่ได้แข็งแรงพอรับน้ำหนักของผนัง การก่ออิฐเสมือนการเอาน้ำหนักไปวางไว้บนแผ่นไม้ น้ำหนักยิ่งมากพื้นอาจจะมีการแอ่นตัว
หรือที่ร้ายแรงกว่า คือแผ่นพื้นสำเร็จจะแตกหัก วิศวกรควรออกแบบให้ผนังอิฐตั้งอยู่บนคานโครงสร้างที่มีการเสริมเหล็กและออกแบบส่วนผสมคอนกรีตให้รับน้ำหนักได้ เว้นแต่จะออกแบบไว้

อย่าฉาบเร็วเกินไป

งานฉาบเป็นงานที่ต้องอาศัยความพิถีพิถัน ช่างปูนกว่าจะสามารถทำงานฉาบได้อาจต้องมีประสบการณ์ด้านงานอื่นๆ มาเป็นเวลานานก่อนจะได้รับความไว้วางใจให้ทำงานฉาบ
คงจะผิดพลาดมหันต์ถ้าเราเร่งรัดขั้นตอนการฉาบกับงานที่คาดหวังความสวยงาม และความคงทนยาวนาน ควรใส่ใจขั้นตอนฉาบให้มาก เพราะเป็นเหมือนการปั้นแต่งผิวหน้าให้เรียบเนียน พร้อมสำหรับการตกแต่งในขั้นตอนสุดท้าย เราคงไม่อยากได้ผนังที่มีคลื่น นูนต่ำไม่เท่ากัน หรือมีเม็ดทรายโผล่ออกมาที่ผิวมากเกินไป
ซึ่งบางครั้ง การปิดผิวด้วยสี หรือกระเบื้องอีกชั้น ก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้อีกแล้ว


(งานฉาบเป็นงานที่ต้องอาศัยความพิถีพิถัน ค่อย ๆ บรรจงปั่นหน้าให้เรียบ ด้วยการสลัดน้ำและปั่นด้วยเกรียง คงไม่ดีแน่หากเร่งรัดขั้นตอนที่เสมือนการแต่งผิวหน้าของกำแพงให้เรียบสนิท)

อย่าฉาบหนาเกินไป

แม้ว่าชั้นปูนฉาบจะเป็นชั้นที่ปิดผิวผนังให้ดูเรียบร้อย แต่ก็ไม่ควรฉาบให้หนาเกินไป เพราะชั้นปูนฉาบจะแห้งช้าลง ทำให้เป็นอุปสรรค์ต่อการทำงานได้ อีกทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำหนัก
หากจำเป็นจริง ๆ เช่น ผนังก่ออิฐมีการโน้ม หรือโน้มไปด้านหลังบางส่วน ทำให้ต้องเพิ่มความหนาของปูนฉาบ แนะนำให้เติมปูนในส่วนที่อิฐโน้มไม่ได้ดิ่งนั้นก่อน จากนั้นทิ้งไว้ให้ปูนเซ็ทตัว ก่อนจะฉาบปิดผิวหน้าให้ได้ระนาบ


(โดยปกติ ช่างจะมีการจับปุ่ม หรือปั้นปูนตามเสา เพื่อหมายความหนาของชั้นปูนฉาบให้ได้ระนาบและแนวดิ่ง ซึ่งความหนาจะถูกกำหนดจากความหนาของวงกบประตูหรือหน้าต่าง แต่อาจปรับเปลี่ยนได้หากผนังที่ก่อไว้ มีความโน้มเอียง แต่ทั้งนี้ ชั้นปูนฉาบไม่ควรหนาเกินไปกว่า 1.5 เซนติเมตร)
(หากส่วนใดของผนังที่มีการโน้มเอียง จนทำให้ส่วนนั้นต้องฉาบหนากว่าปกติที่ควรจะหนาเพียง 1.5 – 2 เซนติเมตร ควรเติมปูนให้เต็มก่อน และทิ้งให้แห้ง ก่อนมาฉาบอีกครั้งหนึ่งให้เต็มทั้งแผง)

อย่าเห็นแก่วัสดุราคาถูก

วัสดุก่อสร้าง เป็นสิ่งที่ใช้ประกอบขึ้นมาเป็นบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งต้องการความแข็งแรงทนทานใช้งานยาวนาน แต่ความจำกัดของงบประมาณอาจทำให้หลายคนเลือกวัสดุที่ราคาถูก และเน้นที่ความสวยงามเป็นหลัก
การทำให้ราคาถูกลงในหลายๆ ครั้งหมายถึงการลดคุณภาพให้เหลือแค่ระดับมาตรฐาน วัสดุราคาถูกอาจสามารถสร้างขึ้นเป็นบ้านหนึ่งหลังได้ แต่อายุการใช้งานอาจต่ำกว่าที่คาดหวัง ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป อาจต้องมีการซ่อมแซม

(วัสดุที่แม้ดูไม่จำเป็นต้องจ่ายมากกว่า อย่างปูน แต่กลับส่งผลต่ออายุการใช้งานที่ยาวนาน ควรเลือกแบบที่เหนือกว่ามาตรฐาน และแบบที่ทั้งตลาดเชื่อถือ)